รวมดอกไม้หน้าตาคล้ายสัตว์





ความน่าอัศจรรย์ของธรรมชาตินั้นช่างยิ่งใหญ่เกินกว่าที่นักสร้างสรรค์คนไหนในโลกนี้จะเลียนแบบได้ ต้นไม้ ภูเขา ก้อนหิน สายน้ำ ตลอดจนเหล่าสิ่งมีชีวิตต่างๆ ทั้งที่เรารู้จักและยังไม่เคยได้มีโอกาสรู้จัก คือผลงานจากปลายฝีแปรงที่ยืนยันว่าธรรมชาตินั้นน่าเหลือเชื่อแค่ไหน หนึ่งในผลงานชิ้นมาสเตอร์พีซที่ถือกำเนิดขึ้นจากการรังสรรค์อันยาวนานนับพันปีก็เห็นจะหนีไม่พ้นสิ่งมีชีวิตที่งดงาม เต็มไปด้วยสีสัน เหมือนรอยแต้มของพู่กันบนผ้าใบสีขาวอย่าง…มวลหมู่ดอกไม้ในธรรมชาติ

    ทว่าท่ามกลางความงดงามตามครรลองนิยมเช่นนั้น ธรรมชาติยังแอบแฝงความซุกซนเอาไว้ส่วนหนึ่ง เขาซุกซ่อนแต่งเติมความคิดสร้างสรรค์ลงไปในบรรดาดอกไม้งามเหล่านั้น เปลี่ยนมวลบุปผาธรรมดาๆ ให้กลายเป็นเหล่าสัตว์ตัวน้อยหน้าตาน่ารักน่าเอ็นดู เอาล่ะ พูดไปแล้วอาจจะยังไม่เห็นภาพสักเท่าไหร่ เราขอเชิญคุณตีตั๋วไปทัวร์สวนสัตว์มวลมาลีด้วยกัน



Caleana Major: เจ้าเป็ดน้อยคล้อยบินสู่เวหา

    เริ่มจากกรงแรกที่มีสัตว์ปีกน้อยอย่างเจ้ากล้วยไม้เป็ดบินอวดโฉมอยู่ หากลองสังเกตส่วนสีม่วงให้ดีจะเห็นได้ว่ามีรูปลักษณ์เหมือนหัวและปากเป็ด ไล่เรื่อยลงมาถึงช่วงตัวที่มีสองปีกกางเผยอเหมือนเป็ดกำลังจะโผบิน กล้วยไม้ชนิดนี้เป็นไม้พื้นเมืองของฝั่งออสเตรเลีย เป็นหนึ่งในพืชประเภทล่อแมลงให้มาติดกับก่อนจะจับกินเป็นอาหาร เรียกว่าเป็นเจ้าเป็ดตัวร้ายที่คนรักเป็ดย่าง เอ๊ย กล้วยไม้ควรมีไว้สักต้น



Dracula Simia: วานรพิโรธ

    ก่อนจะถึงกรงถัดไปโปรดจำไว้ว่าอย่ายื่นกล้วยให้เจ้าตัวนี้เด็ดขาด เพราะแม้กล้วยไม้หายากจากแถบป่าดิบชื้นพื้นที่ทางใต้ของเอกวาดอร์และเปรูต้นนี้จะหน้าตามู่ทู่เหมือนลิงอารมณ์เสียขนาดไหน แต่มันก็ยังกินได้แต่น้ำกับปุ๋ยกล้วยไม้เท่านั้น ลักษณะเด่นของ Dracula Simia คือมีกลิ่นเหมือนส้มสุก บางส่วนมีสีขาวกลีบดอกมีขนเล็กๆ ปกคลุมเหมือนลิงหิมะ ขณะที่บางส่วนมีสีม่วงแดง บางต้นยังดูเหมือนเจ้าจ๋อกำลังแยกเขี้ยวยิงฟันน่ารักน่าหยิกเป็นที่สุด




Ansellia: เสือดาวแห่งแอฟริกา
มาถึงกรงที่สามก็ยังคงวนเวียนอยู่กับพืชตระกูลกล้วยไม้ แม้คราวนี้จะมาแค่ลายก็ยังดูสง่างามน่าเกรงขาม กับกล้วยไม้ลายเสือดาวที่ถูกค้นพบบนเกาะเล็กๆ เกาะหนึ่งทางตะวันตกของแอฟริกาโดยผู้ช่วยนักพฤกษศาสตร์ชาวอังกฤษ เจ้าเสือน้อยตัวนี้มีลักษณะชอบซุ่มเกาะบนกิ่งไม้ใหญ่ อดทนต่อความแล้งได้ดี แถมถ้าให้ได้รับแสงจัดจ้าอย่างสม่ำเสมอแล้วงดให้น้ำสักราว 4-6 สัปดาห์ ทุกๆ 6 เดือน เจ้าตัวร้ายก็สามารถเบ่งบานได้ตลอดปี



Impatiens Psittacina: เทียนนกแก้วเจื้อยแจ้วหลากสี
ความน่าสนใจของกรงนี้คือเจ้านกแก้วสีสันน่าเอ็นดูที่คล้ายกำลังเริงร่าท้าแดดนี้คือไม้พื้นถิ่นของประเทศไทย เป็นไม้ชนิดหายากที่ปัจจุบันพบได้เพียงในป่าดิบดอยหลวงเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่เพียงเท่านั้น โดยพบได้อีกเพียงเล็กน้อยในบริเวณรัฐฉานของพม่า และบางส่วนของอินเดีย ด้วยความที่นกน้อยตัวนี้ชื่นชอบอากาศหนาวจัดจึงต้องรอให้ภูมิอากาศเหมาะสม มีฝน และอุณภูมิต่ำเพียงพอจึงจะสามารถเห็นไม้ดอกชนิดนี้บานได้ ปัจจุบันเมล็ดพันธุ์ของเทียนนกแก้วถูกควบคุมโดยรัฐบาล หากใครอยากเห็นอาจจะต้องออกแรงบุกป่าส่องนก
เอาสักหน่อย



Habenaria Radiata: กระยางขาวสยายปีก

    ยังคงอยู่กับพืชสายพันธุ์นกอย่างกล้วยไม้นกกระยางขาวที่ดูเหมือนนกกระยางหิมะกำลังสยายปีก ปลายปีกเป็นริ้ว สีขาวบริสุทธิ์ตัดกับขั้วสีเขียวอ่อน ดูชดช้อย สง่างามเหมือนนกกำลังจะเหินบินจริงๆ ไม้ชนิดนี้พบได้ในแถบจีน เกาหลี ญี่ปุ่น และรัสเซีย ทว่ามีการส่งออกเมล็ดพันธุ์สำหรับคนรักกล้วยไม้ให้ได้เพาะปลูกในหลายประเทศ กล้วยไม้กระยางขาวมีขนาดเล็ก เมื่อโตเต็มที่อาจสูงเพียงหนึ่งไม้บรรทัด ทั้งยังเลี้ยงไม่ยากจึงเหมาะกับบ้านที่ไม่มีพื้นที่มาก เพียงเอาใจใส่ดูแลสักหน่อยหลังใบไม้ผลิก็สามารถเชยชมดอกได้แล้ว



Prosthechea Cochleate: หมึกเริงร่า

    คราวนี้เข้าสู่โซนอควาเรียมกันบ้าง กับกล้วยไม้หน้าตาคล้ายหมึกสยายหนวดกำลังเริงร่าในท้องทะเลที่บางคนรู้จักในชื่อ Clamshell orchid เจ้าหมึกหน้าทะเล้นนี้มีถิ่นกำเนิดในแถบอเมริกากลาง ช่วงโคลัมเบีย เวเนซูเอล่า และฟลอริดาใต้ ที่เห็นดอกไม้ดูเหมือนหมึกเช่นนี้จริงๆ แล้วเพราะตัวดอกมีลักษณะคว่ำลงผิดกับกล้วยไม้ชนิดอื่นๆ จึงทำให้ดูเหมือนส่วนตัวหมึกและหนวด ความสำคัญของดอกไม้ชนิดนี้อีกประการคือเป็นดอกไม้ประจำชาติของประเทศเบลีซในชื่อ Black Orchid




Senecio Peregrinus: โลมาทะยานคลื่น     
 ปิดท้ายกันด้วยสิ่งมีชีวิตตัวสุดท้ายที่ยังคงอยู่กับโซนอควาเรียม เจ้าต้นนี้จริงๆ แล้วเป็นไม้อวบน้ำที่กำลังฮิตในหมู่คนชอบต้นไม้ประดับบ้านน่ารักๆ โดยตัวต้นมีลักษณะเหมือนฝูงโลมาตัวน้อยกำลังกระโจนล้อคลื่นในบ่ายวันอากาศดี เก็บครบทั้งช่วงตัวเพรียวยาวเหมือนโลมาและครีบ วิธีเลี้ยงก็ไม่ยากเพียงรักษาความชุ่มชื้นให้ดีเหมือนไม้อวบน้ำทั่วไป เป็นจุดเริ่มต้นที่ง่ายที่สุดในลิสต์หากคิดอยากมีสวนสัตว์น้อยๆ ไว้ที่บ้านหลายๆ ต้น 

 อ้างอิง : https://rakdok.com/%E0%B8%A3%E0%B8%A7%E0%B8%A1%E0%B8%94%E0%B8%AD%E0%B8%81%E0%B9%84%E0%B8%A1%E0%B9%89%E0%B8%AB%E0%B8%99%E0%B9%89%E0%B8%B2%E0%B8%95%E0%B8%B2%E0%B8%84%E0%B8%A5%E0%B9%89%E0%B8%B2%E0%B8%A2%E0%B8%AA%E0%B8%B1

ความคิดเห็น